ความเป็นมา
คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2481 โดยการโอนกิจการโรงเรียนช่างทอวัดโบสถ์มาสังกัดกองอาชีวศึกษากรมวิชาการเปิดสอนเฉพาะวิชาการทอผ้าปีต่อมาโรงเรียนได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนช่างทอวัดสามพระยา เนื่องจากย้ายมาทำการสอนที่โรงเรียนพณิชยการ สามพระยา (เดิม) มีประวัติความเป็นมาดังต่อไปนี้
- พ.ศ. 2485 โรงเรียนได้ย้ายมาทำการสอนที่โรงเรียนพณิชยการ วัดเทวราชกุญชร จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2490 กรมอาชีวศึกษาให้เปิดการสอนวิชาช่างสตรี แผนกช่างเย็บผ้าหลักสูตร 2 ปี ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนการช่างสตรีโชติเวช”
- พ.ศ. 2492 โรงเรียนขยายการสอน โดยเปิดแผนกการช่างสตรีชั้นกลาง รับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) เข้าเรียนหลักสูตร 3 ปี และปี พ.ศ. 2495 เปิดสอนระดับประโยคอาชีวะชั้นสูง แผนกการช่างสตรี รับนักศึกษาที่จบชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 (ม. 6) เข้าเรียนหลักสูตร 3 ปี
- พ.ศ. 2501 กรมอาชีวศึกษามีนโยบายให้โรงเรียนเลิกรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ยังรับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประโยคอาชีวะชั้นสูง
- พ.ศ. 2504 มีการเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนใหม่ทั้ง 2 ระดับ เป็นประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ. 1-3) และประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ. 4-5) สายอาชีพ
- พ.ศ. 2506 โรงเรียนขยายอาคารเรียนเพิ่มขึ้นที่ฝั่งวัดเทวราชกุญชร
- พ.ศ. 2517 โรงเรียนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยมีชื่อว่า “วิทยาลัยโชติเวช” และ ขยายการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี
- พ.ศ. 2520 วิทยาลัยได้โอนกิจการมารวมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาและ เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตโชติเวช”
- พ.ศ. 2523 วิทยาเขตฯ ขยายการสอนขึ้นอีกหนึ่งระดับ คือ เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมหลักสูตร 1 ปี
- พ.ศ. 2531 วิทยาเขตฯ เปิดการสอนระดับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม และได้เปิดรับนักศึกษาที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 6, วช. 1 และ วช. 2) เข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สายคหกรรมศาสตร์ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล”
- พ.ศ. 2533 วิทยาเขตฯ ได้เปิดการสอนสาขาใหม่อีก 1 สาขา คือ สาขาอุตสาหกรรมศิลปะประดิษฐ์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
- พ.ศ. 2536 วิทยาเขตฯ เปิดสอนสาขาคหกรรมศาสตร์ศึกษา-ธุรกิจงานประดิษฐ์ ระดับปริญญาตรี โดย 2 ปีแรก ศึกษาที่วิทยาเขตฯ และ 2 ปีหลังศึกษาที่ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จ.ปทุมธานี
- พ.ศ. 2537 วิทยาเขตฯ เปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี ศึกษาที่วิทยาเขต 2 ปีแรกสาขาผ้าและเครื่องแต่งกาย-ออกแบบแฟชั่น และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า
- พ.ศ. 2540 วิทยาเขตฯ เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี สาขาอาหารและโภชนาการ และสาขาเทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- พ.ศ. 2541 วิทยาเขตฯ เปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี สาขาคหกรรมศาสตร์ศึกษา-คหกรรมศาสตร์ทั่วไป และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
- พ.ศ. 2543 วิทยาเขตฯ ปิดการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และเปิดการสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี เพิ่มอีก 2 สาขา คือ หลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต (คศ.บ) สาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย-ออกแบบแฟชั่น และสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ-พัฒนาผลิตภัณฑ์
- พ.ศ. 2545 วิทยาเขตฯ เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี 2 ปี ต่อเนื่อง 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และปิดรับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมศิลปะประดิษฐ์
- พ.ศ. 2546 วิทยาเขตฯ เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี 4 ปี 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต(ทล.บ.)ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม,หลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต (คศ.บ) ผ้าและเครื่องแต่งกาย หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) ระบบสารสนเทศ และเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง 2 ปี 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต (คศ.บ) ผ้าและเครื่องแต่งกาย
- พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 และ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2548 วิทยาเขตโชติเวช จึงได้รับการยกฐานะโดยรวมกับวิทยาเขตเทเวศร์ วิทยาเขตพณิชยการพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และวิทยาเขตพระนครเหนือ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (Rajamangala University of Technology Phranakhon : RMUTP) มีฐานะเป็นนิติบุคคล สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2550 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 17(6) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
- พ.ศ. 2548 และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ ศธ 0503(3)/ว288 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ประกอบกับมติสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในการประชุมครั้งที่ 8/2550 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 แบ่งส่วนราชการระดับคณะในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ออกเป็น 9 คณะ ดังต่อไปนี้
- คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
- คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
- คณะบริหารธุรกิจ
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์
- คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
- พ.ศ. 2550 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ได้เปิดสอนในระดับปริญญาโท หลักสูตร 2 ปี สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ซึ่งมี 3 กลุ่มวิชา คือ ออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย อาหารและโภชนาการ และการบริหารธุรกิจคหกรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อาคารเรือนปัญญา” คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เมื่อ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
ดอกไม้ประจำคณะ
ดอกราชาวดี
ดอกราชาวดี เป็นดอกไม้ประจำคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ลักษณะของดอกจะบอบบาง เกาะกันเป็นช่อ มีกลิ่นหอม เปรียบเสมือนงานคหกรรมศาสตร์ของไทยที่มีชื่อเสียงขจรขจายเป็นที่รู้จัก และชื่นชมในความประณีตงดงามของงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนในการสร้างสรรค์งานคหกรรม จัดเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่ต้องผสมผสานในศาสตร์ความรู้ทางคหกรรรมศาสตร์ทุกแขนงงาน เพื่อให้ได้งานที่มีความสวยงามประณีต เฉกเช่น ดอกราชาวดีที่เกาะกลุ่มเป็นช่ออันสวยงาม